หยดแรกของหนู

หยดแรกของหนู

ข้อมูลทั่วไป

1.ชื่อเจ้าของผลงาน           นางดวงใจ   ศิริเดชอุดม   พยาบาลวิชาชีพชำนาญการ

2.องค์กร                      โรงพยาบาลนาโพธิ์ ขนาด 30 เตียง

3. รูปแบบการนำเสนอ    Poster presentation

4. หมวดหมู่ผลงาน            MCH,Obsterics and Gynecology

ผลการพัฒนาคุณภาพ

1. ชื่อผลงาน/เรื่องเล่า: หยดแรกของหนู

2. คำสำคัญ: นมแม่   No ANC  ทีนเอจ Preg สายใยรักแห่งครอบครัว

3. ชื่อและที่อยู่องค์กร: โรงพยาบาลนาโพธิ์    103 หมู่ 8 ต.ศรีสว่าง อ. นาโพธิ์ จ. บุรีรัมย

4. สามาชิกทีม: นางดวงใจ  ศิริเดชอุดม

5. เป้าหมาย: เพื่อส่งเสริมการเลี้ยงลูกด้วยนมแม่  สร้างความรักความเข้าใจในครอบครัว เพื่อป้องกันการตั้งครรภ์ไม่พึงปรารถนา ในวัยรุ่น

ที่มาของปัญหาการตั้งครรภ์ของวัยรุ่นแนวโน้มเพิ่มขึ้นเรื่อยๆ สถิติระดับประเทศปี 2554   ร้อย ละ 14.32   จังหวัดบุรีรัมย์ร้อยละ 18.32  อำเภอนาโพธิ์มีสถิติวัยรุ่นตั้งครรภ์ 24 ราย ส่วนมากเป็นการตั้งครรภ์ไม่พึงปรารถนา  ทำให้เกิดปัญหาหลายๆด้านตามมา  ถูกทิ้งจากครอบครัวและกลุ่มเพื่อน ขาดที่พึ่ง  ต้องหยุดพักการเรียน ไม่พร้อมที่เป็นมารดาจึงปฏิเสธบุตร ทำแท้ง ทำร้ายตัวเองเพื่อหลีกหนีปัญหา     บุคลรอบข้างต้องเข้าใจช่วยดูแล ให้โอกาสประคับประคอง   เพื่อเขาจะได้ผ่านช่วงวิกฤติชีวิตไปได้ด้วยดี  การส่งเสริมการเลี้ยงลูกด้วยนมแม่ตั้งแต่ในห้องคลอดเป็นการสร้างสายใยรัก ความผูกพันที่แม่มีต่อลูกได้เป็นอย่างดี  ปัญหาการตั้งครรภ์ในวัยรุ่นเป็นปัญหาใหญ่ระดับประเทศที่ทุกคน  ทุกหน่วยงานจะต้องร่วมมือกันในการแก้ไขปัญหา

6. สรุปเรื่องเล่าโดยย่อ: หยดแรกของหนู

“ พี่ต้อมมี เคสทีนเอจอีกแล้ว No ANC ไม่มีอะไรซักอย่าง ไม่บอกชื่อสามีด้วย ” น้องพยาบาลบอกเมื่อฉันมารับเวรตอนเช้า ในใจฉันคิด อีกแล้วปัญหาโลกแตกเมื่อไหร่จะแก้ไขได้สักที่นะ เรื่องเคสทีนเอจ Preg นี่  ฉันมองผ่านกระจกไปที่เตียง 3 พบเด็กสาวนอนใส่ชุดผู้ป่วยหันหลังให้ทารกน้อยที่ห่อด้วยผ้าห่มโรงพยาบาล  ไม่มีญาติห้อมล้อมเช่นเตียงอื่น  เด็กสาวหน้าตาจิ้มลิ้ม  ผิวขาวเหลือง ประมาณอายุด้วยสายตาน่าจะราวๆ 16 ปี   น้องเวรดึกรายงานเรื่องราวความว่า “เธอมาโรงพยาบาลคนเดียวตอนเที่ยงคืน  แล้วมาคลอดปกติตอนที 2” หลังคลอดสังเกตว่าเธอไม่มองดูลูก  ไม่สนใจ  หลังทำความสะอาดห่อตัวแล้วนำเด็กให้มารดากอดและดูดนมมารดาทันที” ตามมาตรฐานโรงพยาบาลส่งเสริมสายใยรักแห่งครอบครัวที่ปฏิบัติกันประจำ  เธอไม่ยอมจะให้ลูกดูดนม  “หนูไม่เอาลูกหรอกไม่อยากได้  หนูจะยกให้คนอื่น พ่อมันตายแล้ว” ทีมงานทำคลอดเงียบกริบ ป้าโม(ผู้ช่วยเหลือคนไข้อาวุโส)“แล้วหนูตั้งชื่อลูกอะไร ป้าตั้งให้แล้วกันนะ ชื่อน้องเอินนะลูก”  “น้องเอิน ทำไมพ่อทิ้งหนูไปแล้วแม่จะทิ้งหนูอีกล่ะลูก”   เธอมองหน้าผู้อาวุโสสักพัก สีหน้าลังเล สับสน สายตาบอกอนุญาตอย่างปฏิเสธไม่ได้  ป้าโมเอาลูกมาวางที่หน้าอกของน้อง “กอดลูกด้วยเดี๋ยวลูกจะหล่น” ( อันนี้เป็นเทคนิคที่เราจะให้แม่กอดลูกให้แนบแน่น)  เด็กน้อยที่พึ่งลืมตา ได้ไออุ่นจากอกดูดนมแม่เขาจุ๊บแรก  น้ำตาของแม่ค่อยๆไหลรินออกมา  แล้วก็ตามมาด้วยเสียงร้องไห้ของคนที่คับแค้นใจที่อยากจะระบายออกมาอย่างเต็ม ที่ ” ลูกแม่ แม่ไม่ทิ้งหนูแล้ว” เสียงนั้นสร้างความตื้นตันใจให้ทีมช่วยคลอดยิ่งนัก  หลังพยาบาลเย็บแผลเสร็จ ป้าอาวุโสนำเด็กนอนใน Radiant warmer (เครื่องให้ความอบอุ่นแก่ร่างกายทารก ) เด็กสาวมาคลอดชนิดว่ามาแต่ตัวจริงๆ ไม่มีผ้าอ้อมลูกมาเลยสักผืน  ผู้อาวุโสเป็นธุระหาผ้าอ้อมมาห่อตัวเด็กให้ใหม่  โดยไม่ลืมใช้ผ้าห่มห่อตัวเพิ่มความอบอุ่นอีก  ก่อนที่จะส่งเด็กน้อยสู่อ้อมกอดของมารดาซึ่งนอนรอที่เตียงด้วยสีหน้าอ่อน เพลีย  ผู้อาวุโสปล่อยให้เธอพักและสังเกตอาการอยู่ห่างๆ

ฉันจินตนาการมองเห็นภาพเหตุการณ์ที่พึ่งผ่านมาอย่างชัดเจน  มือเปิดดู Chart ผู้ป่วยเพื่อดูประวัติอีกที   เดินไปหาน้องที่ข้างเตียง ถามว่า “เป็นไงบ้างลูกปวดแผลไหม ทานยาหรือยัง“   “ทานยาแล้วปวดแผลไม่มาก เสียงสาวน้อยตอบ “น้ำนมไหลหรือยังลูก”ก็มีบีบออกค่ะ สายตาทอดยาวไปที่ลูก  “หนูมาคลอดคนเดียวมีใครรู้ไหมคะ”ฉันถามด้วยความห่วงพร้อมนั่งลงที่เก้าอี้ ข้างๆ  “ไม่มีค่ะ นอกจากครูที่ปรึกษาและเพื่อนสนิท“ ฉันถามต่อ “ แล้วคุณครูบอกว่าอย่างไร” น้อง “ครูบอกไม่ให้หนูทำแท้งมันอันตรายแล้วหนูก็ไม่อยากทำด้วย  ถ้าหนูคลอดแล้วครูบอกเอาไปให้ยกให้คนอื่นเขาเลี้ยงก็ได้”  “แล้วตอนนี้ที่บ้านมีใครรู้ไหมหนูอยู่บ้านกับใคร  หนูมีอะไรจะเล่าให้ป้าฟังไหมคะ”  สาวน้อยนั่งก้มหน้าน้ำเสียงสั่นเครือ ‘หนูเรียน ปวช.ปี2 หนูอยู่กับยาย  หนูเจอกับแฟนในงานงิ้วแล้วก็มีอะไรกัน  ไม่ได้คุมกำเนิดหลังจากนั้น…. จากนั้นก็ไม่เจอกันอีก  แม่หนูทำงานที่กรุงเทพกับแฟนใหม่”    ฉันถามต่อ “แล้วเมื่อคืนหนูมายังไง”  “หนูเจ็บท้อง ท้องปั้น ปวดท้องหน่วงๆ มีน้ำเดินมีมูกเลือดตั้งแต่ 3 ทุ่ม ปวดท้องถี่ขึ้นหนูคิดว่าหนูจะคลอดลูกแน่ๆ หนูกลัวยายรู้ หนูก็เลยจูงรถมอเตอร์ไซด์ที่อยู่ใต้ยุ้งข้าว  ออกมาที่ถนนหน้าบ้านไกลๆ  แล้วค่อยสตาร์ทรถแล้วขับมาโรงพยาบาล ด้วยเพราะรถไม่มีไฟ  เส้นทางข้างหน้าจึงมืดสนิท  เปลี่ยวมากไม่มีผู้คนสันจร  พอขับมาซักพักรถยางรั่ว   หนูขับมาค่อยๆ  พอเจ็บท้องหนูก็หยุดพัก พอหายเจ็บหนูก็ขับรถต่อ กลัวจะคลอดลูกที่ถนน  กลัวรถใหญ่ที่ขับมาเหยียบตายทั้งแม่และลูก”  ฉันได้ฟังแล้วอึ้ง คิดในใจ “โอ้โหชีวิตคนเรามันยุ่งยากแบบนี้ด้วยเหรอ  เป็นการมาคลอดที่ทรหดมากๆๆๆ  ตั้งแต่ฉันทำงานมา   ที่เห็นในละครก็จิ๊บๆ   ฉันสะท้อนในอก นึกสงสารและชื่นชอบความใจเด็ดของสาววัยรุ่นคนนี้มาก  ฉันถามต่อเพื่อคาดการการตัดสินใจของเธอ “แล้วหนูจะทำอย่างไรต่อล่ะลูก หนูต้องบอกแม่และยายแล้วล่ะ” “แล้วลูกล่ะหนูคิดจะยกให้คนอื่นอีกไหม”  สายตาเธอมองที่ลูกอย่างอ่อนโยนปนเปกับความหวาดหวั่นที่เผชิญ  “หนูมีโทรศัพท์ไหม เอาของป้าโทรบอกแม่หนูนะ ป้าจะนั่งเป็นเพื่อน” เธอรับโทรศัพท์จากมือของฉัน แล้วกดเบอร์โทรหาแม่   สักพักน้องเล่าให้ฟังว่า แม่ถามว่ามีอะไร น้องบอก “แม่เดี๋ยวนี้หนูนอนอยู่ที่โรงบาล” “เป็นอะไร” “ หนูปวดท้อง” แม่น้องถาม “ปวดไส้ติ่งเหรอลูก เจ็บไหมต้องผ่าไส้ติ่งไหม”  น้องบอก “ไม่ใช่น้องมาคลอดลูก” แม่เธออึ้งไปครู่ใหญ่ไม่พูดอะไร  แล้วก็บอก “เดี๋ยวแม่จะกลับบ้าน” แม่น้องก็วางหู  ฉันก็เลยถามต่อ” แล้วที่โรงเรียนมีใครรู้ไหม” มีแต่ครูแนะนำที่รู้ แล้วก็เพื่อนสนิท” หนูไม่กล้าบอกแม่และยายเลย หนูกลัวพวกเขาเสียใจ  ตอนที่คลอดใหม่หนูทำอะไรไม่ถูก  ใจไม่อยากได้ลูก คิดจะยกลูกให้คนอื่น แต่พอลูกดูดนมหนูครั้งแรกหนูบอกไม่ถูกว่ารู้สึกอย่างไร  แต่หนูรู้ว่าหนูจะต้องเลี้ยงลูกหนูเอง  หนูไม่ยกให้ใครหรอก”  “หนูตัดสินใจถูกแล้ว” ฉันสนับสนุน และให้เธอนอนพักผ่อนเอาแรง ในใจคิดว่า ผู้คลอดรายนี้ต้องได้รับการดูแลจากทีมให้คำปรึกษาโดยด่วน จึงได้ประสานงานสุขภาพจิต และเข้ามาเยี่ยมผู้คลอดรายนี้ทันทีหลังประเมินทีมวางแผนการดูแลโดยให้ครอบ ครัวมีส่วนร่วมวางแผนและตัดสินใจ

ฉันเดินออกมาออกมาหน้าห้องพบยายคนหนึ่งนั่งร้องไห้อยู่ที่ระเบียงหน้าห้อง  ฉันถาม” ยายเป็นอะไรทำไมมานั่งร้องไห้ล่ะ”  “ยายเป็นยายของน้องที่มาคลอดนี่แหละ  ขอยายร้องไห้ให้หนำใจก่อนเถอะหมอ มันเหลือใจแท้ๆ แม่มันโทรไปบอกว่า น้องมาคลอดลูกยายก็ไม่เคยรู้เลยว่าหลานท้อง  มีลูก อยู่ด้วยกันตลอด  ได้ยินแต่คนว่าไก่ขันกก (ไก่ขันตอนประมาณ 3-4 ทุ่ม  ผู้สาวสิมีลูก (เป็นความเชื่อของชาวบ้านที่ว่าผู้สาวคือคนที่ยังไม่แต่งงาน)  ไม่คิดว่าจะเป็นหลานตัวเอง  มันไม่มีอาการอีหยังให้ผิดสังเกตเด่หมอ บ่มีอ๊วก บ่วิน(วิงเวียน)  ไปโรงเรียนทุกวัน แต่ว่าช่วงหลังๆว่ารายงานหลายก็เลยบ่ค่อยได้คุยกัน”  พลางเอาผ้าขนหนูเช็ดน้ำตา “ ยายไม่เป็นหยังดอกมันเป็นไปแล้ว  มาช่วยกันคิดว่าสิเฮ็ดจังได๋ต่อ  น้องเขาบอกเสียใจเขาบ่กล้าบอกแม่กับยาย ”  ยายนั่งสักพักแกก็เดินเข้ามาที่ห้องหลังคลอด  เห็นเหลนก็ร้องไห้อีก “เป็นหยังคือไม่บอกยาย” “หนูไม่กล้า กลัวยายกับแม่เสียใจ”   “ ไม่เป็นไรหลอกเกิดมาแล้วกะเลี้ยงกันไป เอามาอุ้มแหน่หล่า  ผู้หญิงคือแม่ร้องไห้ดี  ใครจะนินทาว่าลูกบ่มีพ่อช่างหัวมัน  เดียวหน่อยก็ลืมดอก” ฉันมองเห็นสีหน้าน้องสดชื่นขึ้นมากยิ้มออก  ฉันเลยเดินออกมาปล่อยให้ยาย หลานคุยกัน

ตอนบ่ายๆวันเดียวกันฉันเห็นชายหญิงคู่หนึ่งเข้ามาเยี่ยมน้อง  หลังจากคุยกันผู้หญิงอายุประมาณ 30  ต้นๆ เดินมาหาฉันที่บริเวณที่ห้องรอคลอด  แล้วบอก” หนูเป็นแม่น้องตอนที่น้องโทรบอกหนูตกใจมาก พูดอะไรไม่ออกเลย น้องไม่เคยบอกว่ามีแฟน  ยายก็บอกว่าไปโรงเรียนทุกวัน หนูไปทำงานที่กรุงเทพ ก็ส่งเงินมาให้ทุกเดือน” แล้วพูดต่อ “หนูไม่คิดว่าลูกหนูต้องเจอปัญหาคล้ายหนู หนูแต่งงานตั้งแต่อายุน้อย หนูเลิกกับพ่อน้องตั้งแต่น้องยังเล็ก  ก็เลยต้องไปทำงานทิ้งให้ลูกอยู่กับยาย  ก็มาเยี่ยมบ้างโทรคุยบ้าง น้องเขาก็ไม่เคยเล่าอะไรให้ฟังเลย  หนูก็เสียใจ” ฉันก็ปลอบใจและเล่าให้ฟังคร่าวๆถึงการมาคลอดของลูกสาว และเปิดโอกาสได้ระบายความรู้สึก รับฟัง ประเมินการแก้ไขปัญหาเบื้องต้น และร่วมกันวางแผนในการดูแล หาข้อจำกัดของผู้คลอดและครอบครัว หาแนวทางการแก้ปัญหาร่วมกัน ทางเลือกที่ดีที่สุดสำหรับผู้คลอดและครอบครัว

วันรุ่งขึ้นฉันไปทำงานพบว่าน้องมีหน้าตาสดชื่น แจ่มใสมากให้นมลูกได้ดี  ก็ให้คำแนะนำการปฏิบัติตัว ให้คำปรึกษาในเรื่องต่างๆ  การให้กำลังใจและได้แนะนำเรื่องการเรียนต่อของน้องเพื่ออนาคต ช่วยสอนการให้นม  การอาบน้ำลูก โดยมีแม่และยายของน้องมาคอยดูแล  โดยเฉพาะยายทวดแกอุ้มหลานแบบทะนุถนอมมาก  แต่ลูกของน้องตัวเหลืองก็เลยต้องอยู่ส่องไฟอีก 3 วัน  จนถึงวันจะกลับบ้าน  แม่น้องมาบอก “ขอบคุณคุณหมอทุกคนที่ช่วยดูแลน้อง หนูจะให้น้องเขาเรียนต่อ เขาบอกจะเรียน  ส่วนหลานหนูจะส่งค่านม ค่าใช้จ่ายมาให้ยายทวดช่วยเลี้ยงค่ะ”   น้องเขาอุ้มลูกแนบอกมาไหว้พวกเราด้วยสีหน้ายิ้มแย้มแล้วบอก “หนูจะกลับบ้านแล้วหนูขอบคุณมากค่ะ”

2  เดือนต่อมาในวันศุกร์  สาววัยรุ่นหน้าน่ารัก  ท่าทางสดใสร่าเริงใส่ชุดกีฬาของโรงเรียนเอกชน 2 คน ในนั้นคือแม่น้องเอินนี่เองมือหนึ่งถือ OPD  card  อีกมือถือตะกร้า  “ คุณหมอหนูมาคลินิกนมแม่ค่ะ”  ฉันมองหน้า “ อ้าวหนูเป็นไงบ้างลูก สบายดีไหม น้องเอินเป็นไงบ้าง”  “ สบายดีค่ะ กินนมเก่งมาก  วันนี้หนูมากับเพื่อนขอครูมาโรงบาล จะมาคลินิกนมแม่และจะหัดบีบเก็บน้ำนมให้ลูกตอนหนูไปเรียน  ให้ยายป้อน  ยายฝากไข่มดแดงมาให้หมอด้วยค่ะ”  ฉันและน้องพยาบาลมองไปที่ตะกร้าที่น้องถือมาพบว่าเต็มไปด้วยไข่มดแดง  “ขอบใจนะจ๊ะ”  หลังจากสอนน้องบีบเก็บน้ำนม  น้ำนมเธอไหลดี ซึ่งบ่งบอกว่าน้องได้ให้นมลูกจริงๆ  เธอบอกว่ากลับไปเรียนหนังสือต่อ  มีเพื่อนสนิทที่รู้และครูแนะแนวคนเดิมที่บอกให้น้องบีบเก็บน้ำนมได้ที่ห้อง พักครูใส่กระติกน้ำแข็งแล้วนำกลับบ้านด้วย   แม่และพ่อใหม่รักหลานมากส่งเงินค่าใช้จ่ายมาให้ทุกเดือน “หนูจะตั้งใจเรียนเพื่อจะได้มีอนาคตที่ดี  มีเงินส่งเสียน้องเอิน”

ฉันและทีมห้องคลอดโรงพยาบาลนาโพธิ์ทุกคนดีใจไม่ใช่เพราะได้ของฝากเป็น ไข่มดแดง  แต่ดีใจและภูมิใจมากที่มีส่วนได้ช่วยสาวน้อยและลูก ทางออกเลือกที่เหมาะสม อาจไม่ใช่ทางออกที่ดีที่สุดของหลายๆคน แต่เป็นทางออกที่ดีที่สุดสำหรับเธอ ลูกและครอบครัว แต่เหนืออื่นใดต้องขอบคุณครอบครัวของเธอที่ยอมรับ และคอยโอบอุ้ม ประคับประคอง ไม่ดุด่า ซ้ำเติม  ให้กำลังใจ และขอบคุณคุณครูที่เข้าใจวัยรุ่น  ให้คำแนะนำ ให้โอกาสเรียนต่อ   เพื่อนที่เข้าใจเป็นกำลังใจอยู่เคียงข้าง แต่เหนือสิ่งอื่นใดทั้งปวง  คือ  ตัวเธอเองที่เข้มแข็งที่ไม่ยอมทำแท้ง  และขอบคุณน้ำนมหยดแรกของน้องที่ทำให้น้องยอมเปลี่ยนใจที่ ไม่ยกลูกให้คนอื่น  สายใยแห่งรักจากแม่สู่ลูก  อยากจะให้หลายๆคนที่เห็นเด็กวัยรุ่นที่ตั้งท้องขณะเรียน  อย่างมองว่าเด็กดื้อถึงได้ท้อง  อาจจะเป็นเพราะความซื่อ การไม่รู้ และความกลัวว่าพ่อแม่จะเสียใจ  ยอมเก็บความเสียใจไว้คนเดียว  เด็กก็คือเด็ก  ผู้ใหญ่ต้องให้โอกาส ให้คำปรึกษา  เข้าใจและยอมรับ   คุณอาจจะเห็นข่าวหน้าหนึ่ง วัยรุ่นทำแท้งตกเลือดตาย หรือคลอดลูกแล้วทิ้งไว้ตามสถานที่ต่างๆ      นี่ไม่ใช่ทีนเอจ Preg คนสุดท้าย คนต่อไปอาจเป็นคนที่คุณรักก็ได้ใครจะรู้  ….ใครจะไปรู้?

7. กิจกรรมการแก้ปัญหา/พัฒนา:

-การประสานงานกับงานฝากครรภ์เพื่อค้นหาหญิงวัยรุ่นที่ตั้งครรภ์ไม่พึง ปรารถนา เพื่อจะได้ให้การช่วยเหลือ  แก้ไข  ประสานกับทีมจิตเวชในการให้คำปรึกษา

-การส่งเสริมการเลี้ยงลูกด้วยนมแม่ให้ลูกดูดนมแม่ในห้องคลอดในรายที่ไม่มีข้อห้าม

-การติดตามทางโทรศัพท์ การนัดมาคลินิกนมแม่

8. การเปลี่ยนแปลงที่เกิดขึ้น:

ทีมได้ปรับรูปแบบการดูแลผู้ป่วยกลุ่มเสี่ยงแบบสหสาขา วิชาชีพมีการประเมินทั้งทางร่างกายและจิตใจของผู้ป่วย ตั้งแต่การค้นหาและประเมินเบื้องต้นจากหน้างานร่วมกันวางแผนการดูแลโดยครอบ ครัวมีส่วนร่วม

9. บทเรียนที่ได้รับ:

-การตระหนักในการประเมินผู้ป่วยทุกมิติตั้งแต่แรก แล้วนำสู่การวางแผนการดูแลโดยครอบครัวมีส่วนร่วมและยอมรับ สามารถเลือกทางออกที่เหมาะสม   เพื่อน  ครู  มีบทบาทสำคัญในการให้คำปรึกษา ที่เข้าถึงง่าย ควรเพิ่มองค์ความรู้ที่ถูกต้อง เพื่อเอื้อต่อการเข้าถึงบริการ

– การให้ความรู้ในเรื่องการป้องกันการตั้งครรภ์  โรคติดต่อทางเพศสัมพันธ์ ในเด็กนักเรียนช่วยลดปัญหาการตั้งครรภ์ในวัยรุ่น ลดผลกระทบที่อาจเกิดขึ้น

-การส่งเสริมสายใยรักแห่งครอบครัว ต้องปฏิบัติอย่างจริงจัง ผู้คลอดได้สัมผัสเรียนรู้ด้วยต้นเองงานจึงจะประสบความสำเร็จ

10. การติดต่อทีมงาน: งานห้องคลอด กลุ่มการพยาบาล โรงพยาบาลนาโพธิ์ ต. ศรีสว่าง อ. นาโพธิ์ จ.บุรีรัมย์ 31230 โทร. 044-629327-8 ต่อ 119

Leave a comment